วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ร้านกาแฟสตาร์บั๊คส์ สาขาที่ 44







ไกรจิตติอาร์ตแกลเลอรี่


ตามประวัติกล่าวว่า บ้านไกรจิตติก่อเกิดมาจากความรัก เพราะท่านเจ้าพระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร ณ อยุธยา ) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ว่าจ้างช่างอิตาเลียนสร้างขึ้นเพื่อยกให้เป็นเรือนหอของบุตรสาวคือคุณหญิงเชย ไกรจิตติ เมื่อครั้งสมรสกับพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์

จอห์น ศรีประดู่ นักออกแบบของสตาร์บั๊คส์ได้รับมอบหมายให้ออกแบบและปรับปรุงบ้านไกรจิตติโดยใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น คุณจอห์น มีแนวความคิดในการออกแบบ คือ ต้องการให้ภาพเดิมๆของบ้านหลังนี้กลับคืนมาอีกครั้ง ให้คนรุ่นใหม่รู้ว่า คนรุ่นเก่าเขารักบ้านกันเพียงใด ดังนั้น การออกแบบจึงเน้นไปที่การพยายามรักษาความเป็นของดั้งเดิม ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด และเสริมเติมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของบ้าน นอกจากนี้ บ้านหลังนี้ยังมีงานศิลปะล้ำค่า อาทิ ผลงานภาพเขียนเฟรสโกบนผนังที่แฝงด้วยความลึกลับของอียิปต์ รวมถึงภาพวาดลายเถาดอกไม้บนเพดานและลายปูนปั้นบนขอบหน้าต่างอันงดงามซึ่งเป็นฝีมือของคุณหญิงเชย

ตัวอาคารบ้านไกรจิตติเป็นตึก 2 ชั้น หลังคาปั้นหยา เปิดจั่วที่มุขหน้า ประดับหน้าจั่วด้วยไม้ฉลุลายอย่างบ้านขนมปังขิง สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ประกอบด้วยระเบียงลูกกรงปูนปั้น หน้าต่างเปิดถึงพื้น ช่วงบนเป็นบานเกล็ดไม้ ช่วงล่างเป็นลูกฟัก เหนือหน้าต่างเป็นช่องแสงโค้งกลม ภายในตีไม้แบ่งเป็นช่อง กรุกระจกฝ้า ภายนอกอาคารมีลวดบัวปูนปั้นประดับแบบค่อนข้างเรียบง่าย ภายในอาคารตกแต่งในหลากหลายรูปแบบผสมผสานกันแบบเอเคลคติก (Eclectic) เช่น แบบอียิปต์ แบบจีน แบบวิคตอเรียน ทำให้อาคารหลังนี้มีความน่าสนใจด้วยความที่มีลักษณะเป็น “อาร์ต แกลเลอรี่” ด้วยการตกแต่งของตัวอาคารเอง




ปัจจุบัน บ้านไกรจิตติได้ให้เช่าดำเนินกิจการ ร้านสตาร์บั๊คส์สาขาที่ 44 ภายในจึงจัดเป็นบริเวณเคาน์เตอร์ขายกาแฟอยู่ด้านหน้า เลยเข้าไปเป็นห้องวิคตอเรียนจะมีโต๊ะนั่งจิบกาแฟที่จัดไว้หลวม ๆ เพียงไม่กี่โต๊ะเพื่อให้ลูกค้าแหงนมองความงดงามของเถาดอกไม้บนเพดานได้ ถัดเข้าไปอีกเล็กน้อยเป็นห้องเมมฟิสลักษณะแปดเหลี่ยม ตกแต่งแบบอียิปต์ ซึ่งลูกค้าสามารถชมภาพฝีมือของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายนอกอาคารก็จัดเป็นพื้นที่สำหรับดื่มกาแฟ บรรยากาศโปร่งสบาย

ส่วนตัวบ้านชั้นบนนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนของห้องนิทรรศการเพื่อแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเกาะรัตนโกสินทร์ ส่วนอีกห้องหนึ่ง เจ้าของบ้านขอให้เป็นห้องสำหรับจัดแสดงเรื่องราวของตระกูล “ไกรจิตติ” และห้องสุดท้ายจะทำเป็น Art Gallery เพื่อแสดงงานของศิลปินโดยไม่เก็บค่าเช่า

ไม่มีความคิดเห็น: